วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง




หลักการและเหตุผล 
            ศิลปหัตถกรรมของไทยเป็นงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละ ยุคสมัย เป็นตัวบอกเล่าประวัติศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในกลุ่มชนต่างๆ สิ่งที่ เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมของไทยนอกจากจะแสดงในส่วนที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังแสดงให้เห็นถึง ภูมิปัญญาของคนไทยที่นำวัสดุทางธรรมชาติมาประกอบในการทำชิ้นงานศิลปะ
            ศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่บรรจุ งานศิลปหัตถกรรมของไทยเอาไว้ในรูปแบบของตุ๊กตาชาววังที่ถูกปั้นขึ้นด้วยดินเหนียว ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ หาได้ง่ายในท้องถิ่นจังหวัดอ่างทอง ตุ๊กตาชาววังที่ปั้นขึ้นจะแสดงในรูปแบบของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เช่น วิถีชีวิตของคนไทยในยุคสมัยต่างๆ การละเล่นพื้นบ้านของไทย และการละเล่นดนตรีไทยเป็นต้น ศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นอกเหนือจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและ แหล่งเรียนรู้ ยังเป็นสถานที่ที่ช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้มีงานทำและมีรายได้
         
 จากการที่คณะผู้จัดทำได้ทำการศึกษาข้อมูลของศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่า โมก จังหวัดอ่างทอง จึงพบว่าศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมกจังหวัดอ่างทองเป็นสถานที่ ที่น่าสนใจทั้งในด้านการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ ดังนั้น คณะผู้จัดทำจึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาในด้าน ประวัติความเป็นมาของศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง วิธีการทำตุ๊กตา ชาววังของศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง รวมไปถึงรายได้จากการผลิต ตุ๊กตาชาววังของคนในศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง



             วัตถุประสงค์ 
1. เพื่อศึกษาความเป็นมาของการเริ่มต้นทำตุ๊กตาชาววัง             
2. เพื่อศึกษาขั้นตอนการทำตุ๊กตาชาววัง
3. เพื่อศึกษารายได้จากการขายตุ๊กตาชาววัง

                                                     
 เป้าหมาย 
เจ้าหน้าที่ในศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง


             ขอบเขต
ด้านสถานที่ : ศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
ด้านระยะเวลา : เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ.2562 รวมระยะเวลา 3 เดือน

            ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 
1. ได้รู้ถึงความเป็นมาของการเริ่มต้นทำตุ๊กตาชาววัง         
2. ได้รู้ถึงขั้นตอนการทำตุ๊กตาชาววัง
3. ได้รู้ถึงรายได้จากการขายตุ๊กตาชาววัง

           ประวัติความเป็นมาของตุ๊กตาชาววัง
ตุ๊กตาชาววังเป็นตุ๊กตาที่ทำกันในวัง เป็นตุ๊กตาที่ทำเล่นกันเฉพาะเจ้านายในพระบรมมหาราชวังสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติเล่าว่า เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.ย้อย ดิศรางกูร ได้ปั้นตุ๊กตาชาววังถวายพระราชธิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินเพ็ญภาค เมื่อเจ้านายองค์น้อยทอดพระเนตรตุ๊กตาก็ทรงโปรด เจ้าจอมมารดาย้อยจึงปั้นขายที่ตำหนักของท่านเอง (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, 8 สิงหาคม 2562)
ศิลปินผู้ปั้นตุ๊กตาชาววังคนสุดท้ายคือ นางแฉ่ง สาครวาสี สกุลเดิม สุวรรณโน มีพี่สาวคนหนึ่งเป็นข้าหลวงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรพินเพ็ญภาค นางแฉ่ง สาครวาสี บ้านเดิมอยู่ที่ตึกดิน ถนนดินสอ มารดามีอาชีพปั้นตุ๊กตาแก้บนส่งจำหน่าย โดยใช้ดินเหนียวในคลองตึกดินอันเป็นคลองแยกมาจากคลองหลอด พี่สาวนางแฉ่งหัดปั้นตุ๊กตาอยู่กับเจ้าจอมมารดาย้อยประมาณ ๑ ปี ก็ลาออกจากวังกลับมาอยู่บ้าน มาสอนน้องสาวอีก ๒ คน ให้ปั้นตุ๊กตาชาววัง การจำหน่ายตุ๊กตาชาววังที่งานภูเขาทอง ทำให้ผู้คนรู้จักตุ๊กตาชาววังอย่างกว้างขวางขึ้น (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, 8 สิงหาคม 2562)

ตุ๊กตาชาววังมี ๓ ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่นิยมกันมากคือ ขนาดเล็กซึ่งสูงประมาณ ๒ เซนติเมตร ขนาดใหญ่จะสูงประมาณ ๔ เซนติเมตร ปั้นเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กกำลังนั่งและคลาน ท่านั่งเอน นอนคว่ำ ตะแคง คุกเข่า ประมาณอย่างละ ๘ ท่า ส่วนเด็กเล็กนั้น มีที่ไว้ผมแกละ ผมจุก และผมเปีย ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงนั้นมีลักษณะพิเศษคือ แต่งกายอย่างชาวเหนือ ที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะพระวรชายาเจ้าดารารัศมี ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, 8 สิงหาคม 2562)
          นอกจากตุ๊กตาเดี่ยวแล้ว ยังมีตุ๊กตาชุดตามเรื่องในวรรณคดี มีทั้งรามเกียรติ์ ละครนอกและละครใน การปั้นตุ๊กตาจะปั้นขาก่อน แล้วจึงขึ้นตัว ส่วนตัวนั้นมีพิมพ์กดเอาไว้ เสร็จแล้วนำดินไปตากให้แห้ง ต้องระวังไม่ให้ถูก แดดแรงเพราะถ้าถูกแดดแรงดินจะร้าว เสร็จแล้วจึงนำไปเผาในเตาถ่านที่ใช้หุงต้มอาหารในครัว เชื้อเพลิงคือ แกลบ  เผาแล้วสุมไว้ตลอดคืน เพื่อให้ตุ๊กตาเย็นสนิท ต่อไปจึงนำตุ๊กตานั้นมาลงสีผิว โดยใช้ฝุ่นผัดหน้าที่เรียกว่า ฝุ่นจีน มา ละลายน้ำจนข้น แล้วจึงแต่งหน้า ทาปาก เขียนเสี้อผ้า ใช้



สีตามความนิยมของชาววัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้าของผู้ใหญ่ ผู้หญิงจะต้องนุ่งห่มสีตัดกันตามวัน (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, 8 สิงหาคม 2562)
     วันอาทิตย์    : นุ่งแดงห่มเขียวหรือจะกลับกันก็ได้
     วันจันทร์     : นุ่งม่วงหรือน้ำเงินห่มเหลือง
     วันอังคาร    : นุ่งชมพูห่มน้ำเงินหรือกลับกัน
     วันพุธ        : นุ่งน้ำเงินห่มสไบเขียว
     วันพฤหัสบดี : นุ่งน้ำเงินห่มแสดหรือกลับกัน
     วันศุกร์       : นุ่งน้ำเงินห่มชมพูหรือบานเย็นคล้ายวันอังคาร
     วันเสาร์       : ห่มสีม่วงนุ่งสีเหล็กหรือเทาแก่
ตุ๊กตาชาววังของนางแฉ่ง สาครวาสี รูปร่างสง่างาม ทรงผมตัดหรือเกล้ามวย ฝ่ายหญิงมีลักษณะอ่อนช้อย ฝ่ายชายมีลักษณะสง่าและขึงขัง ส่วนเด็กมีลักษณะรื่นเริง ท่าทางต่างกันตามเพศและอายุ มักเป็นอิริยาบถประจำวันของคนนั่งพื้น ไม่ใช้เก้าอี้ ผิวเนียนเพราะใช้ฝุ่นดี มีนิ้วมือนิ้วเท้าทุกตัว (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, 8 สิงหาคม 2562)

หลังจากพี่สาวและน้องสาวถึงแก่กรรม นางแฉ่งจึงเป็นผู้ปั้นตุ๊กตาชาววังแต่เพียงผู้เดียวและเป็นคนสุดท้าย นางแฉ่งถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมอายุได้ ๘๗ ปี ท่านเลิกทำตุ๊กตาชาววังหลายปีก่อนถึงแก่กรรม แต่ได้มอบวิชาการปั้นตุ๊กตาชาววังให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒ ท่าน เพื่อนำไปเผยแพร่ที่โครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง การทำตุ๊กตาชาววังของชาวบ้านบางเสด็จ ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ส่งผลให้ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้นโดยทั่วกัน แต่การประดิษฐ์ตุ๊กตาชาววังเป็นจำนวนมากเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ทำให้มีความประณีตไม่เท่าผลงานของนางแฉ่ง สาครวาสี (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, 8 สิงหาคม 2562)

          ขั้นตอนการทำตุ๊กตาชาววัง
1.การเตรียมดิน
1.1  หมักดินแช่ไว้จนเป็นน้ำโคลน ตักน้ำโคลนกรองผ่านผ้าขาวบาง
1.2  ผึ่งดินจนเกือบแห้งแล้วนำมานวดปั้นให้เป็นก้อนห่อผ้า และใส่ถุงพลาสติก
2.การเตรียมส่วนหัวตุ๊กตา
           2.1 การนำดินใส่ตรงส่วนหัวตุ๊กตา
           2.2 จับแม่พิมพ์สองซีกประกบกันให้แน่น
           2.3 ปกะแม่พิมแยกออกจากกัน
           2.4 นำส่วนหัวตุ๊กตาออกจากแม่พิม ตัดคีบดินส่วนเกินที่ติดอยู่รอบๆ 

3.ขั้นตอนการปั้นตัวตุ๊กตา
          3.1 การคลึงดินให้เป็นเส้นตรงกลางใหญ่ ปลายทั้งสองข้างเล็กเรียวให้มีความยาวพอประมาณ
          3.2 การจับดินพับครึ่งให้ติดกัน
          3.3 คลึงดินส่วนที่เป็นตัวให้ติดเป็นเนื้อเดียวกันจะเป็นส่วนลำตัวของตุ๊กตา
          3.4 ใช้ปลายนิ้วชี้กดดัดให้เป็นส่วนก้น ส่วนเอว และส่วนอกของตัวตุ๊กตา
        3.5 นำดินมาคลึงเป็นเส้นเล็กๆ ปลายสองข้างเรียว เพื่อเป็นส่วนแขนแล้วใช้ปลายนิ้วกดดินส่วนแขนให้ติดกับส่วนลำตัว
          3.6 ประกอบตัวตรงที่เจาะนำไว้ นำส่วนหัวมาเสียบจัดท่าทางให้ได้ตามที่ออกแบบไว้
          3.7 ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท แล้วจึงนำไปเผา 
4.การเผาตุ๊กตา

          การเผาตัวตุ๊กตาต้องแห้งสนิท เริ่มด้วยการติดไฟในเตาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง จากนั้นนำภาชนะเช่นหม้อดินหรือกะละมังเคลือบที่บรรจุตุ๊กตาวางลงบนเตาแล้วใช้ถ่านสุกวางบนฝาภาชนะโดยรอบๆ เพื่อให้ความร้อนได้กระจายทั่วถึง โดยจะต้องค่อยๆเพิ่มความร้อน พอแกลบสุกทั่วกันดีทั้งเตาตุ๊กตาจะสุกเป็นเหมือนอิฐปล่อยให้ไฟมอดไปเอง
5.การระบายสีและตกแต่ง
          5.1 ลงสีรองพื้นด้วยสีน้ำพลาสติกสีขาว
          5.2 ลงสีน้ำมันให้เป็นผ้านุ่ง เขียนตา เขียนปาก 
6.การประกอบเข้าชุด
          จัดประกอบเข้าชุดตามต้องการ เช่น ชุดวงดนตรีปี่พาทย์ ชุดการละเล่นพื้นบ้านของไทย เป็นต้น

ตุ๊กตาชาววังเรียกได้ว่าเป็นหัตถกรรมครัวเรือน เพราะชาวบ้านที่ปั้นตุ๊กตานั้น ทำการปั้นอยู่ที่บ้าน        เมื่อเสร็จแล้วจึงนำผลิตภัณฑ์ที่ปั้นได้นั้น มาส่งจำหน่ายที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังแต่ถึงกระนั้นก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่มาปั้นตุ๊กตาในศูนย์นี้ เพราะเป็นการมาช่วยกันดูแลศูนย์ตุ๊กตา ความภาคภูมิใจของศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ก็คือ เป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความรู้และในการประกอบอาชีพ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง ซึ่งต่อมา ชาวบ้านจากบ้านบางเสด็จ ได้นำวิชาความรู้ ไปเผยแพร่ แก่ชุมชนอื่นๆ เช่น บ้านบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเผยแพร่ตามเขตโรงเรียนต่างๆ ในด้านผลตอบรับในระยะเวลาร่วม 40 ปี นับว่าอยู่ในระดับที่ดี มีผู้คนทั้งในประทศ และต่างประเทศให้ความสนใจอย่างยิ่ง มีสื่อมวลชนเข้ามา ทำให้มีการเผยแพร่ไปได้อย่างกว้างขวาง

รายได้จากการทำตุ๊กตาชาววัง
            รายได้จากการทำตุ๊กตาชาววัง ของคนในชุมชนและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้าน บางเสด็จ ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
             ราคาของผลิตภัณฑ์ มีตั้งแต่ราคา 10 บาทขึ้นไป จนถึงราคาหลักหมื่น (เช่น เรือสุพรรณหง)  รายได้ต่อเดือน ในแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากัน เพราะบางคนประกอบอาชีพนี้เป็นหลัก ส่วนบางคนก็ ประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพเสริม ในกรณีที่เป็นอาชีพหลัก รายได้อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน  ส่วนอาชีพเสริม รายได้อยู่ที่ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท ต่อเดือน เมื่อถึงกำหนดครบ 1 เดือน จึงแบ่ง รายได้ให้ชาวบ้าน ตามจำนวนผลผลิตของแต่ละบุคคล แต่จะมีการหักเงิน 15 เปอร์เซนต์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในศูนย์ตุ๊กตาชาววัง